คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดเสวนา หัวข้อ “เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย”

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดเสวนา หัวข้อ “เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค.60

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 3 พ.ค.60 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานเพื่อการปฏิรูป การจัดกิจกรรม วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และจัดการเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย” โดยมี สื่อมวลชนและประชาชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นรวม 30 องค์กร เข้าร่วมกิจกรรม

โดย นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถามว่าการทำหน้าที่ของสื่อเป็นไปด้วยความรับผิดชอบแค่ไหน ในอดีตเสรีภาพสื่อเท่ากับเสรีภาพของประชาชน เมื่อใดเสรีภาพถูกริดรอนประชาชนจะออกมาเรียกร้องกับรัฐ แต่ทุกวันนี้ประชาชนเริ่มลังเลและนั่งเฉย เพราะตราบใดที่สื่อยังสนุกกับการใช้เสรีภาพ แข่งเรตติ้ง ยอดขาย นำเสนอในสิ่งที่ประชาชนสนใจ แต่ไม่เสนอสิ่งที่ประชาชนควรรู้ เพราะในอดีตประชาชนโต้ตอบสื่อไม่ได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ประชาชนตอบโต้หากสื่อละเมิดกฎหมาย ส่วนรัฐเองก็ต้องการหมาว่านอนสอนง่าย ไม่ใช่หมาเฝ้าบ้าน จึงทำให้เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ต้องการคุมผิดเพี้ยนเพราะต้องการให้สื่อว่านอนสอนง่าย


นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า สถานการณ์คอรัปชั่นไทย ในความเชื่อมั่นประชาชนที่เชื่อมั่นว่าสื่อจะช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่น ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ปรากฏว่าความเชื่อมั่นช่วงแรกดีขึ้น แต่ 3 ครั้งหลังหรือปีครึ่งที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนมีความหวังลดน้อยลง และมองว่าการมีกฎหมายมากขึ้นเป็นปัญหาหากบังคับใช้ไม่ได้ อนาคตสื่อจะมีวิวัฒนาการไปทางออนไลน์ ช่องทางสื่อมากขึ้นจะทำให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ และการมีกฎหมายแบบนี้ทำให้การเกิดการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน และสิ่งที่อยากเห็นคือสื่อมีเสรีภาพ มีความหลากหลายในการนำเสนอไปสู่ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น เพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคม จึงอยากบอกผู้มีอำนาจ สิ่งที่อยากเห็นคือ ข่าวสารผ่านสื่อที่มีคุณภาพ เพื่อจะทำให้ประชาชนเกิดความหวังในการสู้กับคอรัปชั่น สื่อต้องทำให้มีเสรีภาพ

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า การพูดว่าจะยิงเป้าสื่อเป็นการข้อความสร้างความขัดแย้งหรือเฮทสปีช ที่ขัดจริยธรรมของผู้มีตำแหน่ง สปท.ควรมีการตรวจสอบจริยธรรม แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ เพราะคนมีอำนาจเป็นคนพูด จึงตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีสื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น สิ่งที่ยังคานอำนาจรัฐได้คือสื่อมวลชน แต่สื่อต้องมีกลไกกำกับกันเอง และมีเสรีภาพที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ ถ้าเมื่อไรสื่อกลายเป็นกระบอกเสียง ชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ ไม่ได้รายงานให้รอบด้าน นั่นเป็นกลไกรัฐที่คิดผิดตั้งแต่ต้น จึงต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้มากขึ้นไม่ใช่ลดเสรีภาพให้น้อยลง โดยรัฐควรส่งเสริมองค์กรอย่าง สภาทนายความ กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นที่พึ่งของประชาชน ที่มีช่องทางในการดูแลผู้ถูกละเมิดกฎหมายช่วยฟ้องร้อง เช่น เด็ก สตรี แล้วให้ศาลตัดสิน

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพ ที่ประชาชนเข้าถึงสื่อและเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น เพราะสื่อต้องตรวจสอบอำนาจของรัฐ พร้อมกันนี้เรียกร้องให้การเผยแพร่ภาพบางภาพ เช่น คนที่ไม่เกี่ยวข้องที่ สื่อต้องระมัดระวังในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพศสภาพ เพราะการนำเสนอดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่าพลเมืองของประเทศเป็นอย่างไร รัฐต้องสร้างหลักประกันว่าถ้าสื่อใช้เสรีภาพถูกต้องแล้วต้องไม่ถูกคุกคาม

ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หัวข้อ “เสรีภาพสื่อเป็นกับอนาคตสังคม”ว่า ใน 3 อาชีพที่มีผลสำรวจว่าจะต้องมีการปฏิรูปคือ นักการเมือง ตำรวจ และสื่อ วันนี้เราสู้มายาวนานเรื่องของสิทธิเสรีภาพประชาชน ตนมีจุดยืนที่ชัดว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แต่บังเอิญไม่ได้มีสิทธิในสปท. ตนสนับสนุนให้มีสภาวิชาชีพสื่อ โดยให้สื่อเป็นผู้ร่างหรือเข้าไปร่วมร่างด้วย เพราะเมื่อสื่อคุมกันเองก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ความคาดหวังของสิ่งมี่เกิดขึ้นนั้นเรามีสื่อเทียม สื่อเสี้ยม เป็นสื่อหลายอย่างมาปะปน ซึ่งก็เป็นความผิดส่วนหนึ่ง ฉะนั้นกฎหมายที่ออกมานั้นตนไม่เห็นด้วย

นายสมชาย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปนั้นไม่ใช่การมาทะเลาะกับสปท.หรือกับสื่อ แต่วันนี้เราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ส่วนที่สมาคมสื่อฯไปยื่นกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เชื่อว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คงเป็นผู้มารับรายงาน และร่างของสปท.นั้นเป็นเพียงรายงาน ซึ่งยังไม่ใช่กฎหมาย เพราะจะเป็นกฎหมายต้องมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งรายละเอียดที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรา 35 หรือไม่ การดำเนินการตามตรา 77 วรรคสอง เรื่องการรับฟังการวิเคราะห์ผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ รวมทั้งต้อมีการฟังความเห็นจากคณะรัฐมนตรีและสื่อมวลชน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะยังไม่ออก ถ้าสื่อมวลชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงร่วมกับการปฏิรูปนั้นเห็นได้จากร่างที่ทางสมาคมสื่อฯได้ยื่นต่อนายกฯแล้วก็เป็นความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนการมีสภาวิชาชีพก็เปรียบเหมือนสภาวิชาชีพของอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร เป็นต้น ส่วนเรื่องของใบอนุญาตนั้นคงยังไม่ต้องไปพูดถึงเพราะมันไกลอยู่หรือไม่จะเป็นต้องมีก็ได้ แต่ควรมีหลักการมีสภาเพื่อช่วยกันทำหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาสื่อเรามีบทเรียนที่มีสภาต่างๆกระจายกันอยู่ วันนี้ถ้าสภาการที่จะเกิดขึ้นที่เกิดจากการร่วมตัวของคนในวิชาชีพ ไม่ใช่โครงสร้างที่สปท.เขียนไว้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่เอาภาครัฐเข้ามาร่วม

ตนเสนอให้สื่อมวลชนเมื่อครั้งที่เคยเสนอกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมีพ.ร.บ.กิจการวิทยุโทรทัศน์นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ ครั้งนี้เราสื่อน่าจะได้มีโอกาสจับเข่าคุกกับนายกฯหรือนายวิษณุ ตามมาตรา 55 ที่ว่า เสรีภาพในความรับผิดชอบนั้นทำได้มากน้อยแค่ไหน และวันนี้ตนถอดหัวโขนจากสื่อมาเป็นนักการเมืองตนเห็นช่องทางในการทำกฎหมาย ซึ่งมีร่างพ.ร.บ.หลายฉบับที่ผ่านสปท.ไปแล้วแต่ไม่ผ่านความเห็นชอบครม.นายสมชาย กล่าว.

นายสมชาย กล่าวอีกว่า เราเห็นร่างสมาคมฯแล้วอาจจะต้องมีการยกร่างร่วมกันคือ ได้ร่างพ.ร.บ.ของสปท.มาแล้วถ้าได้คุยกับรัฐบาลก็จะได้ร่วมกันออกแบบใหม่เลยก็ได้ อย่างไรแล้ววงการสื่อควรตกผลึกว่าจะต้องมีสภาวิชาชีพหรือไม่ถ้ามีควรร่างเองหรือไม่หรือร่วมร่างกับทางรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวควรจะมีสภาวิชาชีพขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับสื่อด้วย

นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้แสดงความเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้วิธีการครั้งนี้มาแบบทื้อๆ เพราะต้องการคุมการไหลเทของข่าวสารตามที่เข้าต้องการได้ แต่สังคมได้เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไป แต่ความคิดล่าสมัยของคนที่มีอำนาจ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ออกมาจะควบคุมทุกคนในสังคมไทย ใครก็ตามแต่ที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียจะเข้าข่ายทุกคน ซึ่งคนครึ่งประเทศต้องมาขอใบอนุญาติ ผู้ที่รับข่าวก็ต้องเข้าข่ายอยู่ในกรอบที่ต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร จึงคิดว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้มันสะท้อนอีกครั้งว่า ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความเปลี่นแปลงบนโลกข่าวสาร ส่วนการอ้างว่าหมอ วิศวกร ทนายความ จะมีหน่วยงานออกใบอนุญาตก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะหมอต้องเรียนด้านแพทย์ วิศวกร ต้องมีความรู้เฉพาะด้าน แต่สื่อต้องมีความรู้ได้ทุกรูปแบบ

นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจึงเป็นปรากฎการณ์ให้สังคมได้ตระหนัก เพราะการปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อมีมากอยู่แล้ว เสรีภาพก็สึกกร่อนไปด้วยทุนนิยม ดังนั้นความเข้มข้นคนทำสื่อก็แผ่วลงไป ดังนั้นคนแก่จึงต้องมาวันนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เดินหน้าต่อไป และต้องตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพ เพราะเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพประขาชน ไม่มีอาชีพไหนปกป้องกันเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาชีพไหนที่ไม่มีคอร์รัปชั่น นักการเมืองก็มี หมอก็มี วิชาสื่อไม่ว่าตั้งกฎอะไรก็ต้องมีคนผิดกฎ แต่สุดท้ายสังคมจะตัดสินเอง ไม่ใช่รัฐบาลตัดสิน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหน่ึงตัดสิน ที่นายกฯบอกว่า ต้องให้สื่อต้องเชื่อมโยงกับรัฐ แต่สื่อไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับรัฐ เพราะสื่อมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกกับประชาชนเท่านั้น รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อสามารถปกครองดูแลตัวเอง โดยผ่านการดูแลจากประชาชน

“วันนี้คือจุดเริ่มต้นของสังคมไทย ในเสรีภาพของข่าวสารจะให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่มาควบคุมและมากำกับ ซึ่งปัจจัยที่การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศที่คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดโลก ที่ผมเคยสัมภาษณ์มานั้นคำตอบที่ได้คือ ต้องมีสื่อที่เสรี”นายสุทธิชัย กล่าว

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรม ได้ขึ้นเวทีโดยระบุว่า อาชีพที่ประชาชนให้เรตติ้งตำ่ที่สุด คือนักการเมือง ตำรวจ สื่อมวลชน วันนี้มาเป็นกำลังใจ อยากยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ออกจากสปท. จะไม่มีการตีทะเบียนสื่อเด็ดขาด หากจะมีตัวแทนรัฐไม่เกิน 2 จาก 15 คนนั้น ต้องเป็นตัวแทนทีทำงานส่งเสริมวิชาชีพ ซึ่งหลักของสปท.ยึดจากสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน สังคมใดถูกปิดกั้นจะถูกคอร์รัปชั้น จะเป็นสังคมแห่งการมืดบอด ไม่ว่าจะเป็นในยุคไหนต้องมีการตรวจสอบ ส่วนสื่อเลือกข้างไม่ควรมีอีกแล้ว ต้องฝักใฝ่แค่ประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการตีทะเบียนสื่อเกิดขึ้นไม่ว่าช่วงไหน ตนจะลาออกจากสปท.ทันที

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า